Home > Uncategorized > สรุปงานวิจัยเรื่อง Student Support for Academic Success in a Blended, Video and Web-Based, Distance Education Program: The Distance Learner’s Perspective/2003

สรุปงานวิจัยเรื่อง Student Support for Academic Success in a Blended, Video and Web-Based, Distance Education Program: The Distance Learner’s Perspective/2003

1) สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยซินซินแนติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา

2) ชื่อวิทยานิพนธ์/พ.ศ. Student Support for Academic Success in a Blended, Video and Web-Based,

Distance Education Program: The Distance Learner’s Perspective/2003

การสนับสนุนนักศึกษาเพื่อความสำเร็จทางวิชาการในสื่อผสม, วิดีโอและบนเว็บของหลักสูตรการศึกษาทางไกล : มุมมองของผู้เรียนทางไกล

3) ชื่อผู้เขียน Melody Sellet Clark

4) วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้คือ มุ่งศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการ ของนักศึกษาผู้ใหญ่ที่ศึกษาทางไกลในโปรแกรมสังคมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย   (ECLC) ในเรื่องการให้บริการจากสถาบันและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการส่งเสริมความสำเร็จของนักศึกษาภายใต้สภาพแวดล้อมของการศึกษาทางไกล

โดยมีคำถามการวิจัย ดังนี้

1. ในปัจจุบันนักศึกษาทางไกลได้รับการบริการและได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง? จากทางสถาบัน

2. การบริการและความช่วยเหลืออะไร? ที่จะช่วยทำให้การศึกษาทางไกลประสบผลสำเร็จมากที่สุด

3. นักศึกษาต้องการการบริการและความช่วยเหลือในขั้นตอนใดบ้าง? สำหรับการศึกษาทางไกล

4. ข้อแนะนำที่ต้องการให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการและการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาทางไกล

5. ความต้องการของผู้เรียนทางไกลเกี่ยวกับการให้บริการ เปรียบเทียบกับการทบทวนวรรณกรรมเป็นอย่างไรบ้าง?

5) ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยในครั้งนี้ ใช้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลจากนักศึกษาทางไกลโปรแกรมสังคมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (ECLC) จำนวน 64 คน แบ่งขั้นตอนในการเก็บรวบรวมข้อมูลออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ประกอบไปด้วยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับตัวแทนสถาบัน/โปรแกรม4 แห่ง และทบทวนเอกสารต่างๆ ของทางสถาบันเกี่ยวกับการให้บริการและการให้ความช่วยเหลือกับนักศึกษาทางไกลโปรแกรมสังคมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (ECLC)

ขั้นตอนที่ 2 แบบสอบถามจะถูกส่งไปยังนักศึกษาทุกคนในโปรแกรมการศึกษาทางไกลเพื่อสอบถามเกี่ยวกับคุณลักษณะของนักศึกษา, สถานการณ์ชีวิต, ประสบการณ์ในการศึกษาทางไกล และการประเมินจากประสบการณ์ของนักศึกษาที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางสถาบัน

ขั้นตอนที่ 3 ประกอบไปด้วยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กจำนวน 8 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาทางไกลโปรแกรมสังคมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (ECLC) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและการให้ความช่วยเหลือจากทางสถาบัน

6) ผลการวิจัย ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ตามคำถามการวิจัย ดังนี้

คำถามการวิจัยข้อที่ 1 ในปัจจุบันนักศึกษาทางไกลได้รับการบริการและได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง? จากทางสถาบัน

ผลการวิจัยพบว่า การบริการและการให้ความช่วยเหลือที่ทางสถาบันได้จัดให้กับนักศึกษาทางไกลนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการรับสมัครและการลงทะเบียน, ด้านการสนับสนุนทางวิชาการ, ด้านวัสดุและอุปกรณ์ทางการศึกษา, ด้านการพัฒนาชุมชน, ด้านการบริการทางการเงิน และด้านการสนับสนุนทางเทคนิค

คำถามการวิจัยข้อที่ 2 การบริการและความช่วยเหลืออะไร? ที่จะช่วยทำให้การศึกษาทางไกลประสบผลสำเร็จมากที่สุด

ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาโดยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การเรียนผ่านการศึกษาทางไกลประสบความสำเร็จคือ การให้บริการจากทางสถาบัน เช่น การจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมการศึกษาทางไกลหรือข้อมูลด้านข้อกำหนดทางเทคนิค การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกหลักสูตร ความช่วยเหลือในเรื่องการลงทะเบียนเรียนหรือการสมัครเรียน และการอบรมเกี่ยวรูปแบบการศึกษาทางไกล เป็นต้น สาเหตุเนื่องจากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและการเตรียมความพร้อมด้านการเรียน นอกจากนี้ ควรจะมีบุคคลที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลแก่นักศึกษาอีกด้วย

คำถามการวิจัยข้อที่ 3 นักศึกษาต้องการการบริการและความช่วยเหลือในขั้นตอนใดบ้าง? สำหรับการศึกษาทางไกล

ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาส่วนมากอยากให้มีการบริการเพื่อส่งเสริมการรับรู้และให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการลงทะเบียนเรียน ก่อนที่จะเปิดลงทะเบียนหรือเริ่มเรียนในโปรแกรมการศึกษาทางไกล นอกจากนี้นักศึกษาหลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่าการให้ความช่วยเหลือ เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหลักสูตรและบุคคลที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลแก่นักศึกษา เป็นสิ่งที่จำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจบหลักสูตรการศึกษาทางไกล

คำถามการวิจัยข้อที่ 4 ข้อแนะนำที่ต้องการให้เกิดการปรับปรุงการให้บริการและการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาทางไกล

ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาต้องการให้เกิดการปรับปรุงในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล โดยต้องการให้เข้าถึงข้อมูลได้ด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง รวมไปถึงต้องการให้มีเจ้าหน้าที่/บุคลากรคอยให้ความช่วยเหลือรายบุคคล ซึ่งข้อมูลที่นักศึกษาต้องการมักจะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการสนับสนุนด้านวิชาการ การรับสมัครและการลงทะเบียน อุปกรณ์ทางการศึกษา และความช่วยเหลือทางด้านการเงิน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถโทรฟรีเพื่อให้สามารถติดต่อกับอาจารย์ผู้สอน, ข้อมูลที่สอดคล้องกันระหว่างวิดีโอและอาจารย์ผู้สอนทางออนไลน์,ระบบสำรองสำหรับการส่งงานรายวิชา และโครงสร้างโทรศัพท์เพื่อให้เข้าถึงเจ้าหน้าที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น

คำถามการวิจัยข้อที่ 5 ความต้องการของผู้เรียนทางไกลเกี่ยวกับการให้บริการ เปรียบเทียบกับการทบทวนวรรณกรรมเป็นอย่างไรบ้าง?

ผลการวิจัยพบว่า ความต้องการของผู้เรียนทางไกลเกี่ยวกับการให้บริการ ไม่ได้แตกต่างกับข้อมูลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาก็จะพบถึงความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการส่วนบุคคลของผู้เรียน

7) ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้

เนื่องจากนักศึกษาในโปรแกรมการศึกษาทางไกล มีความหลากหลายในหลักสูตรการศึกษา จึงส่งผลทำให้มีความต้องการการสนับสนุนที่แตกต่างกันออก ดังนั้นในอนาคตจึงควรมีการศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องการให้สนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาทุกหลักสูตรของการศึกษาทางไกล ซึ่งจะช่วยในการระบุความต้องการการสนับสนุนที่คล้ายคลึงกันและสามารถนำไปปรับให้เข้ากับแนวทางของสถาบันในโปรแกรมการศึกษาทางไกล   และถึงแม้ว่าการศึกษาทางไกลจะพัฒนาขึ้นจากบริบทของสถาบัน แต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้นจำเป็นต้องใช้การวางแผนและการตัดสินใจจากผลการประเมินระบบการศึกษาทางไกล โดยประเมินผ่านทางความคิดเห็นของผู้เรียน และให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ         

***********************

สรุปงานวิจัยโดย

นางสาวอุทุมพร  มุ่งดี 5614651047

สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

Did you like this? Share it:
Categories: Uncategorized Tags:
  1. No comments yet.
  1. December 17th, 2013 at 07:02 | #1